Last updated: 31 ส.ค. 2564 | 5516 จำนวนผู้เข้าชม |
“คนเมืองเพชร เป็นคนที่มีมืออันประณีต” คำดังกล่าวสะท้อนความเป็นช่างของคนเมืองเพชรได้อย่างชัดเจน เพชรบุรีอุดมไปด้วยศิลปะ หัตถกรรม หากมองขึ้น ไปบนท้องฟ้าของเพชรบุรีเราจะไม่เห็นตึกสูงใหญ่โต แต่จะเห็นยอดแหลมของพระปรางค์วัดมหาธาตุ เมื่อขับรถไปตามถนนสายต่างๆ จะพบกับวัดวาอารามที่ร่มรื่น พบกับปราสาทสมัยโบราณสีน้ำตาลแดงเข้มของศิลาแลง จิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์ วิหาร เกือบทุกวัด เมื่อออกไปยังอำเภอต่างๆ จะพบกับเครื่องไม้เครื่องมือทางการเกษตร อุปกรณ์จับปลาในแถบริมทะเล และเรือนไทยหลังคาจั่วแบบเพชรบุรี
งานช่างในเพชรบุรี เก่าแก่ยาวนานนับพันปี ตั้งแต่สมัยทวารวดี เช่น กลุ่มโบราณสถานทุ่งเศรษฐี, สมัยขอม เช่น กลุ่มปราสาทที่วัดกำแพงแลง สมัยอยุธยา ที่ก่อเกิด “สกุลช่างเมืองเพชร” เช่น พระนอนวัดพุทธไสยาสน์ มีพระพักตร์ได้สัดส่วนงดงาม
วัดใหญ่สุวรรณาราม มีศาลาการเปรียญเป็นอาคารไม้แบบอยุธยา และ จิตรกรรมฝาผนังภาพเทพพนม วัดเกาะแก้วสุทธารามที่ยังคงมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สมบูรณ์และสวยงาม สมัยรัตนโกสินทร์ เช่น งานปูนปั้นในวัดมหาธาตุวรวิหาร พระนครคีรี พระรามราชนิเวศน์ ได้รับอิทธิพลมาจากอยุธยาตอนปลายและศิลปะตะวันตก
งานช่างที่โดนเด่นของเพชรบุรี เช่น งานปูนปั้น ใช้ประดับหน้าบัน ซุ้มประตูโบสถ์ สามารถหาชมได้ทุกวัดในเพชรบุรี ความพิเศษของปูนปั้นเมืองเพชร คือมีลวดลายสวยงาม สีขาวนวลของปูนอันงดงาม มาจากช่างที่พิถีพิถันในการผสมปูนเอง โดยใช้กระดาษฟาง กาวหนัง น้ำตาลโตนด ทรายละเอียด ปูนขาวและน้ำผสมเข้าด้วยกัน งานปูนปั้นยังนิยมทำร่วมกับงานลงรักปิดทองและประดับกระจก
งานตอกกระดาษ เป็นลวดลายไทยและสัตว์ในวรรณคดี ใช้สำหรับตกแต่งสถานที่ ประดับเมรุ ประดับโกศ นำมาใช้ในงานบุญต่างๆ งานบวช งานแต่งงาน โดยจะตอกกระดาษเป็นสีสันสดใส ทำเป็นธงราว ประดับประดาเคียงคู่กับพวงมะโหตร
ช่างทองเมืองเพชร ลายโบราณของทองเมืองเพชรมักเป็นลายธรรมชาติ เช่น ลายดอกพิกุล ลายลูกสน ลายเต่าร้าง ลายกลีบบัว ช่างทองของเมืองเพชรจะใช้ช่างฝี มือเพียงคนเดียวในการผลิตชิ้นงาน ซึ่ง เป็นการผลิตด้วยมือเกือบทั้งหมด การผลิตด้วยมือเพียงอย่างเดียวทำให้งานแต่ละชิ้นมีเอกลัษณ์เฉพาะตัว แหล่งทองโบราณเมืองเพชรจะอยู่บนถนนพานิชเจริญและถนนสุรินทร์ฤาชัย
งานแทงหยวก เป็นงานที่ประณีตวิจิตรบรรจง ใช้ในงานบวช งานโกนจุก งานกฐิน งานศพ ที่โดดเด่น คือ การประดับจิตกาธาน ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ อาทิ พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาฯ, สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่ง ช่างแทงหยวกเป็นช่างจากเพชรบุรี
ปัจจุบันได้แบ่งงานช่างเมืองเพชรออก เป็น งานปูนปั้น, งานจิตรกรรมไทย, งานลงรักปิดทองประดับกระจก, งานลายรดน้ำ, งานทำทอง, งานแทงหยวก, งานตอกกระดาษ, งานจำหลักหนังใหญ่, งานแกะสลักไม้, งานปั้นหัวโขนหัวละครและงานปั้นหัวสัตว์ มีการสร้างสรรค์งานให้เห็นตามวัดต่างๆ และมีการเผยแพร่โดยการเปิดสอนให้กับผู้ที่สนใจตามบ้านครูช่างและการทำ กิจกรรมกับเยาวชน เช่น กลุ่มลูกหว้า ที่ใช้หอศิลป์ สุวรรณารามในพื้นที่ของวัดใหญ่สุวรรณารามเป็นสถานที่ถ่ายทอด ความรู้
12 พ.ย. 2563
12 พ.ย. 2563