“ช่างเมืองเพชร”

Last updated: 31 ส.ค. 2564  |  7004 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“ช่างเมืองเพชร”

“ช่างเมืองเพชร” พ่อผู้สร้างสรรค์ผลงาน สกุลช่างเมืองเพชร

เพชรบุรีเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่าพันปี หากเดินสำรวจไปตามชุมชนเมืองเก่าริมแม่น้ำจะพบว่า ร่องรอยความรุ่งเรืองในอดีตที่ถูกถ่ายทอดผ่านงานศิลปกรรมตาม วัด วัง บ้านเรือน ยังมีให้คนปัจจุบันได้พบเห็น และถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ศิลปะอันงดงามเหล่านี้ไม่ได้จางหายหรือสูญสลายไปตามกาลเวลา วิถีชีวิตของชาวเพชรบุรียังคงดำเนินไปโดยไม่ขาดศิลปะ และไม่อาจแยกออกจากกันได้

แต่เดิมช่างไทยโบราณแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ช่างหลวง ที่เป็นช่างฝีมือในวัง และ ช่างพื้นเมือง ที่สร้างงานอยู่ตามที่อยู่ของตนและมักจะมีกลุ่มพระภิกษุรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ช่างหนึ่งคนมีความรอบรู้และทักษะงานช่างหลายด้าน เพราะงานช่างแต่ละแขนงมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะการเขียนลายไทยที่ช่างทุกคนจะต้องเขียนได้ แต่หากช่างคนไหนชำนาญงานด้านใดเป็นพิเศษ  ก็จะได้รับการยอมรับให้เป็น “ครูช่าง” ในแขนงนั้น ๆ

ช่างในเพชรบุรีส่วนใหญ่เป็นช่างพื้นบ้าน พัฒนารูปแบบ เนื้อหา และฝีมือ จนเป็นลักษณะเฉพาะเรียกว่า “สกุลช่างเมืองเพชร” ในจังหวัดเพชรบุรีมีช่างฝีมือพื้นบ้านจำนวน ๔๐๐ คน และในจำนวนนี้มี ๒ คน ที่ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ ได้แก่ นายทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประเภทประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้นประจำปี พ.ศ. 2554 ที่ปัจจุบันอุทิศตนให้แก่เด็กและเยาวชน โดยใช้บ้านทำเป็นศูนย์การเรียนรู้งานปูนปั้น ถ่ายทอดเรื่องราววิธีการทำงานปูนปั้นอย่างเข้มแข็ง และนางเนื่อง แฝงสีคำ ศิลปินแห่งชาติสาขาสาขาทัศนศิลป์ ประเภทประณีตศิลป์ปี พ.ศ. 2555หรือที่ชาวเพชรบุรีเรียกว่า “ป้าเนื่อง” แม้จะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ป้าเนื่องยังคงทิ้งสมบัติทางภูมิปัญญาอันล้ำค่า งานทองรูปพรรณที่เป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่ผสมผสานความงดงามของธรรมชาติ และประโยชน์ใช้สอยไว้อย่างกลมกลืน สมบูรณ์แบบ จึงมีความงดงามอันทรงคุณค่า จนทำให้เครื่องทองเมืองเพชรบุรีกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่ายิ่งของชาติ นอกจากนี้ ยังมีผลงานของช่างในแขนงต่าง ๆ อีกมากมาย ถูกรวบรวมไว้เป็นนิทรรศการทำเนียบศิลปิน ณ ศูนย์แสดงและสาธิตงานสกุลช่างเมืองเพชรที่จัดแสดงประวัติและผลงานของครูช่างเมืองเพชรในอดีต เช่น ขรัวอินโข่ง ขุนศรีวังยศ หลวงพ่อฤทธิ์ อาจารย์เป้า ปัญโญ นายพิณ อินฟ้าแสง นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์นายแป๋ว บำรุงพุทธนายหวน ตาลวันนา นายเลิศ พ่วงพระเดช นายเทศ ลอยโพยม ฯลฯ

ด้วยรูปแบบการสืบทอดงานด้านสกุลช่าง ที่มีรูปแบบการถ่ายทอดภายวงศาคณาญาติจากรุ่นสู่รุ่นนี้เอง
จึงกล่าวได้ว่า ช่างเมืองเพชรมีสถานะเป็น “พ่อ”เพราะ "พ่อ" สร้าง​ประณีต​ศิลป์สกุลช่างเมืองเพชร​ฝาก​ไว้​คู่ไทย

       



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้