“กลุ่มลูกหว้า” เยาวชนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ทำเรื่องใหญ่

Last updated: 31 ส.ค. 2564  |  4782 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“กลุ่มลูกหว้า” เยาวชนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ทำเรื่องใหญ่

“กลุ่มลูกหว้า” เยาวชนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ทำเรื่องใหญ่

ยุคเปลี่ยน สมัยเปลี่ยน การจะทำให้สิ่งที่เคยมีมาให้คงอยู่และยังสืบเนื่องต่อไปเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เช่นเดียวกันกับจังหวัดเพชรุบรี เพชรบุรีเป็นเมืองที่มีมรดกทางศิลปะพื้นบ้านและงานหัตถกรรม รู้จักกันดีในนาม “สกุลช่างเมืองเพชร” แต่เมื่อไม่กี่สิบปีนี้เกือบจะสลายหายไปพร้อมกับครูช่าง

ครูจำลอง บัวสุวรรณ์ ผู้เป็นแกนนำหลักที่ทำหน้าที่ต่อลมหายใจ อนุรักษ์ สืบสาน และปลุกจิตวิญญาณเมืองเพชร ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ครูจำลองกล่าวว่า “เราไม่สามารถแยกศิลปะอออกจากวิถีชีวิตได้ มองไปทางไหนทุกที่ ก็เป็นศิลปะ” เพชรบุรีมีงานสกุลช่างเมืองเพชรที่เป็นสมบัติประจำจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นงานปูนปั้น งานตอกกระดาษ งานทำทอง งานงานเขียนลายรดน้ำ และอีกมากมาย ครูจำลองมองว่า งานศิลปะจะอยู่สืบไปได้ จำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยกลุ่มคนในยุคสมัยนั้น ๆ เพื่อให้เท่าทันพลวัตของสังคมยุคใหม่ อย่าง”กลุ่มลูกหว้า” เยาวชนที่เกิดและเติบโตในจังหวัดเพชรบุรี ชื่อของกลุ่มมีที่มาจาก “ลูกหว้า” ที่เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดเพชรบุรี กลุ่มลูกหว้าใช้วิธีการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ใหญ่ใจดี สร้างการเรียนรู้ให้กับทุนคนที่สนใจ โดยมีฐานปฏิบัติการที่ใช้ส่งต่อองค์ความรู้ทั้งด้านประวัติศาสตร์และวิธีการสร้างสรรค์งานสกุลช่างเมืองเพชรอยู่ที่หอศิลป์วัดใหญ่สุวรรณาราม และเขาวัง เคเบิ้ลคาร์

สุนิสา ประทุมเมือง หรือน้องหนูแดง หนึ่งในเยาวชนกลุ่มลูกหว้า สืบสานงานสกุลช่างเมืองเพชร ผู้พาเราเรียนรู้วิธีการทำพวงมโหตร ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการทำพวงมโหตรและการตอกลายกระดาษจากคุณครูพิทยา ศิลปศร และคุณครูยุวันดา ศิลปศร ครูช่างเมืองเพชร พวงมโหตรจะปรากฏตามธงราว ห้อยระย้าตามงานมงคล งานบุญ ทำด้วยกระดาษว่าวรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสหลากสี พับให้เป็นสามเหลี่ยมแล้วใช้กรรไกรตัด จากนั้นนำมาซ้อนกัน ร้อยด้ายแขวนประดับ เป็นพวงอุบะ สาเหตุที่เลือกงานพวงมโหตรมาเป็นจุดเด่นของการสืบสานงานด้านสกุลช่างนั้นเป็นเพราะงานตอกกระดาษ เป็นงานที่มีผู้สืบสานไม่มากนัก เสี่ยงต่อการสูญหาย และทำตามได้ไม่ยาก อีกทั้งใช้เวลาในการทำไม่นาน ก็สามารถนำกลับบ้านได้

หากมีโอกาสได้เดินไปตามชุมชนคลองกระแชง หนึ่งในชุมชนเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี จะเห็นทางเดิน ที่ถูกประดับตกแต่งด้วยพวงมโหตร เคลื่อนไหวพลิ้วไปกับแรงลม เป็นสัญลักษณ์แห่งการรักษาและการสร้างสรรค์อย่างมีส่วนร่วม แสดงให้เห็นถึง ความคิด ความตั้งใจ ความรักและหวงแหนของเยาวชนและคนทุกกลุ่มในจังหวัดเพชรบุรี ที่ร่วมมือกันพัฒนาเมืองผ่านการฟื้นฟูศิลปะที่กำลังจะสูญหายไปของตนเอง ให้กลับมามีสีสันและทรงคุณค่าอีกครั้ง ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า  “เมื่อใดที่เห็นพวงมโหตร นั่นแปลว่า การอนุรักษ์และสืบสานไปถึงพื้นที่ตรงนั้นแล้ว และกำลังจะถูกส่งต่อไปยังที่ใกล้ ๆ เรื่อย ๆ  สืบต่อไป”


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้